ที่ตั้ง
บ้านท่าโป่งแดง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ห่างจากจากที่ว่าการอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทางจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลย 108 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางถนนหมู่บ้านอีกประมาณ 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 21,875 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ราบอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำ และที่ราบหุบเขามีสายน้ำสายสำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำปาย
ประวัติความเป็นมา
บ้านท่าโป่งแดง เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีครัวเรือนประมาณ 10-12 ครัวเรือน ตั้งขึ้นก่อนส่งครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ.2466 ผู้นำคนแรกคือ นายแต่ยะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าโป่งแดงตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำปาย พื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยม่อนตะแลงไหลไปบรรจบแม่น้ำปาย เหมาะแก่การเพาะปลูกและจับสัตว์น้ำ ต่อมาในปี พ.ศ.2516 ได้เกิดอุทกภัยอย่างหนัก น้ำท่วมหมู่บ้านท่าโป่งแดง ชาวบ้านจึงย้ายหมู่บ้านมาอยู่ที่ราบเชิงเขาจนถึงปัจจุบันนี้
วิถีชีวิตและอัตลักษณ์
ชาวบ้านท่าโป่งแดงส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าไทยใหญ่ หรือที่เรียกตัวเองว่า “ไต” มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง มักจะตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่ราบลุ่มหุบเขาหรือบริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ บ้านเรือนสร้างจากไม้ไผ่ยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยหญ้าแห้งภายในบ้านจะมี เตาไฟ มีห้องนอน บ้านแต่ละหลังจะมีสวนล้อมรอบ สัตว์เลี้ยงจะผูกอยู่บริเวณประตูบ้าน เนื่องจากความเจริญและความทันสมัยในยุคปัจจุบันทำให้การสร้างบ้านเรือนแบบเก่าหาดูได้ยากจนแทบจะไม่หลงเหลืออยู่ แต่ชาวบ้านก็ยังคงอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด เด็กผู้ชายจะต้องบวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย จึงมีประเพณีที่เรียกว่า ประเพณีปอยส่างลอง ซึ่งเป็นการบรรพชาสามเณรให้สืบทอดในพระพุทธศาสนา และเพื่อเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
อาชีพโดยส่วยใหญ่ของชาวบ้านคือเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าว กระเทียม พืชผักผลไม้ เป็นต้น อาชีพรองลงมา คือ ด้านปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์เพื่อนำไว้ใช้เป็นแรงงาน และบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น สัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ โค กระบือ สุกร ไก่ เป็นต้น เมื่อว่างจากหน้าทำการเกษตรชาวบ้านจะทำอาชีพเสริม เช่นการทำขนมงา ชาใบหม่อน ไม้ประดิษฐ์ และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านในการสืบสานศิลปวัฒนาธรรมของบ้านท่าโป่งแดงในการทำ “ปานซอย” และ “จองพารา” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน
วิถีชีวิตประจำวันของชาวไทยใหญ่ที่บ้านท่าโป่งแดงที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่า “ป๋างน้ำเหน้ง” เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลเป็นภาษาไทยว่า สภาน้ำชา ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันเก่าแก่ และมีคุณค่าของคนไทยใหญ่ เมื่อมีแขกไปใครมาก็จะยกน้ำชามาต้อนรับขับสู้แขกทุกๆ คนที่มาเยือนถึงบ้าน และยังเป็นที่เรียนรู้ของคนในชุมชนในการแลกเปลี่ยนความรู้ การปรึกษาหารือ หรือการส่งเสริมอาชีพของกลุ่มศิลปหัตถกรรมปานซอย บ้านท่าโป่งแดง ซึ่งเป็นศิลปหัตถกรรมในด้านการออกแบบลวดลายปานซอย รวมถึงการฉลุปานซอยที่ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ
ปานซอย
ปานซอย เป็นชื่อภาษาท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีลักษณะเหมือนการฉลุลวดลายลงบนแผ่นโลหะ ซึ่งในอดีตนิยมใช้เป็นของตกแต่ง ประดับประดาตามวัดวาอาราม ซุ้มเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน หรือตามบ้านเรือนของเจ้าขุนมูลนาย วัสดุที่ใช้ทำปานซอยส่วนมากมักทำจากโลหะ เช่น สังกะสี แต่ปัจจุบันหันมาใช้อะลูมิเนียมกันมาก เนื่องจากไม่เป็นสนิมและยังให้ความแวววาวมากกว่า หรืออาจทำจากไม้หรือกระดาษก็ได้ การจะทำปานซอยนั้นต้องทำการออกแบบลวดลายก่อนเพื่อให้ได้ตามขนาดของพื้นที่ที่จะติดลวดลาย และให้เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ และการผลิตนั้นต้องใช้ช่างที่มีความสามารถ และความชำนาญในด้านนี้โดยเฉพาะเพื่อให้ได้งานที่สวยงาม โดยจะไม่ใช้เครื่องจักรกลใดๆ ทั้งสิ้นเพื่อคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์วัฒนธรรมศิลปะอันเก่าแก่ที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันนี้ก็ยังคงนิยมใช้ปานซอยในการตกแต่งตามสถานที่ราชการเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงโรงแรมที่ต้องการอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของแม่ฮ่องสอน โดยส่วนใหญ่จะประดับตามเชิงชาย มุข ประตู หรือที่อื่นๆ ตามความเหมาะสมเพื่อเพิ่มความโดดเด่นสวยงามขึ้น
เนื่องจากมีผู้สนใจนำปานซอยไปประดับมากขึ้น จึงมีลูกค้ามาสั่งทำเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อรองรับงานดังกล่าว อาจารย์ทองสุข คำแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านปานซอยจึงได้สอนวิธีการทำปานซอยให้กับสมาชิกในกลุ่มเพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มเติม และปัจจุบันอาจารย์ทองสุขได้สอนวิธีการทำปานซอยให้กับเด็กๆ ทั้งที่สนใจจะมาเรียนกับกลุ่มและสอนที่โรงเรียนซึ่งบางโรงเรียนได้บรรจุเป็นหลักสูตรในโรงเรียนอีกด้วย จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่างานปานซอยจะได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นและจะคงอยู่ตราบนานเท่านาน
จองพารา
ประเพณีจองพารา เป็นประเพณีการทำบุญของชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จอง แปลว่า วัด หรือปราสาท ส่วนคำว่า พารา แปลว่าพระพุทธรูป หรือพระพุทธเจ้า การจองพารา คือ การสร้างปราสาทเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา
จองพารา หรือปราสาทพระ เป็นศิลปะของชาวไทยใหญ่ ตัวโครงทำด้วยไม้ไผ่บุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีเจาะเป็นช่องลวดลายสวยงามตั้งบนนั่งร้าน นำเครื่องห้อยซึ่งเป็นผลไม้ทุกชนิด ที่มีในท้องถิ่นมาแขวน นำต้นกล้วยต้นอ้อยมาผูกที่เสานั่งร้านทั้ง 4 มุม ตกแต่งประดับโคมไฟให้สว่างไสว เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะยกจองพาราไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลานทั้งที่บ้านและที่วัด
การจองพาราจะตั้งบูชาในตอนหัวค่ำของวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 และทำพิธีอัญเชิญรับเสด็จตอนเช้ามืด ของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา ชาวบ้านจะนำอาหารซึ่งประกอบด้วยข้าวสวย ขนม ผลไม้ใส่ในกระทงใบตองวางไว้ในจองพารา จุดธูปเทียนบูชากล่าวอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้เสด็จ มาประทับที่จองพาราเพื่อเป็นสิริมงคลตั้งบูชาเรื่องไปจนครบ 7 วัน สิ้นสุดการบูชาก็จะนำจองพาราไป ทิ้งหรือเผา ไม่นิยมเก็บไว้ เมื่อถึงปีต่อไปก็จะทำขึ้นมาใหม่
ประเพณีจองพาราเป็นงานบูชาพระพุทธเจ้า ครอบครัวใดจัดทำจองพาราเชื่อว่าครอบครัวนั้นจะมีแต่ ความสุขได้อานิสงส์อย่างสูง หมู่บ้านใดช่วยกันทำจองพาราบูชาไว้ที่วัดประจำหมู่บ้านตลอด 7 วันหลังวันออก พรรษาก็มีความเชื่อว่าทุกคนในหมู่บ้านจะมีความสุข
ชาใบหม่อน
ชาวบ้านท่าโป่งแดงนิยมดื่มชาใบหม่อนกันมาก นอกจากจะมีกลิ่นหอมและสีสันชวนดื่มแล้ว ชาใบหม่อนยังมีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพ ลดระดับน้ำตาล และระดับคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือด ชาใบหม่อนจึงเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้านท่าโป่งแดง
กระบวนการผลิตชาใบหม่อนนั้นเริ่มจากนำใบหม่อนสดที่เก็บมาล้างให้สะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงนำไปคั่วในหม้อดินประมาณ 3 ชั่วโมง ในขณะที่คั่วต้องคอยดึงใบหม่อนออกจากกันเพื่อไม่ให้ติดกันเป็นก้อน เมื่อใบหม่อนสุกจึงเริ่มพันเกลียว แล้วคั่วต่อไปจนแห้ง นำมาพักไว้ให้เย็น แล้วบรรจุลงหีบห่อ ใบหม่อนสด 1 กิโลกรัมสามารถผลิตเป็นชาใบหม่อนพร้อมชงดื่มได้ 2 ขีด ชาใบหม่อนที่ได้สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปีเลยทีเดียว
ขนมงา
เดิมชาวแม่ฮ่องสอนทำขนมงาในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม เป็นช่วงที่มีการทำน้ำอ้อยเพื่อเก็บไว้ตลอดทั้งปี การทำขนมงาจะนำงามากวนในน้ำอ้อย เรียกว่า งาโหย่า ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากงา เป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ให้คุณค่าทางอาหารสูง มีประโยชน์แก่ร่างกาย รสชาติหวาน อร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัย
ไม้ประดิษฐ์
กลุ่มไม้ประดิษฐ์บ้านท่าโป่งแดง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยเป็นการนำเอาเศษไม้ที่เหลือใช้มาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการแกะสลัก และกลึงไม้ให้เป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น แจกัน ด้ามมีด กระปุกออมสิน หรือตุ๊กตาไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำเอาวัสดุเหลือใช้อื่นๆ มาประกอบเข้ากับไม้ที่ผ่านการปรับแต่งได้อย่างลงตัวจนกลายเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสวยงาม และแข็งแรงคงทน
การแสดงชาวไทยใหญ่
“ฟ้อนนกกิ่งกะหล่า” เป็นศิลปะการแสดงของชาวไทยใหญ่ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนิยมแสดงในเทศกาลออกพรรษา ตามตำนานที่เชื่อว่าในครั้งพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นพอถึงวันออกพรรษาจึงได้เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ บรรดามนุษย์และเหล่าเทพยดา ตลอดจนสัตว์ต่างๆ ในป่าหิมพานต์ต่างพากันปิติยินดีจึงได้มารอรับเสด็จพระพุทธองค์ โดยนกกิ่งกะหล่า (กินรา-กินรี ) มาฟ้อนด้วยลีลาอันอ่อนช้อยงดงาม จากตำนานนี้ชาวไทยใหญ่จึงได้ยึดถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้ เมื่อถึงเทศกาลออกพรรษาจึงได้จัดให้มีการแสดงฟ้อนกิ่งกะหล่าขึ้นทุกปี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนนกกิ่งกะหล่าประกอบด้วย กลองก้นยาว ฆ้อง และฉาบ โดยมีกลองเป็นตัวกำหนดจังหวะในการฟ้อน
“ฟ้อนไต” เป็นศิลปะการแสดงของชาวไทยใหญ่ มักจะใช้แสดงในงานมลคลโดยทั่วไป ผู้ฟ้อนเป็นหญิงล้วน นุ่งผ้าซิ่นไหมสีต่างๆ ที่มีดอกสดใส เสื้อแขนยาวทรงกระบอก เกล้ามวยผมทรงสูงแล้วปล่อยชายผมลงมาไว้ข้างๆ มีผ้าคล้องคอยาวๆ ปล่อยชายไว้ทั้ง 2 ข้าง ดนตรีที่ใช้ประกอบเป็นวงดนตรีของไทยใหญ่ และใช้เพลงไทยใหญ่
สถานที่ท่องเที่ยว/โบราณสถาน/โบราณวัตถุ
ศาลาเก่าแก่
ศาลาเก่าแก่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปาย สร้างด้วยไม้ทั้งหลังอายุกว่า 160 ปี เดิมศาลาเก่าแก่นี้ใช้เป็นท่าเรือที่พ่อค้าชาวพม่านำสินค้ามาพักเปรียบได้กับด่านศุลกากรในปัจจุบัน ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นวัดโดยมีพระมาจำพรรษา แต่ปัจจุบันคงเหลือแต่พระพุทธรูปที่อยู่ภายในศาลาเก่าแก่เท่านั้น
ท่าเรือบ้านท่าโป่งแดง
ปัจจุบันที่ท่าเรือแห่งนี้มีบริการนั่งเรือนำเที่ยวตามแม่น้ำปาย ผู้ที่สนใจนั่งเรือเที่ยวสามารถมาขึ้นเรือได้ที่ท่าแห่งนี้โดยจะมีบริการนำเที่ยว ได้แก่ บ้านน้ำเพียงดินสุดแดนสยามระยะทาง 20 กิโลเมตร บ้านกะเหรี่ยงคอยาวระยะทาง 15 กิโลเมตร โดยสามารถชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำปายได้ตลอดสาย
ขอขอบคุณ ข้อมูลและรูปภาพจาก www.lannavillage.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น