วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

กระเหรี่ยงคอยาว (บ้านห้วยเสือเฒ่า )



ประวัติความเป็นมา


            กระเหรี่ยงคอยาว หรือชนเผ่าปาดอง เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่ลึกเข้าไปในดินแดนพม่า (ติดต่อกับเขตบ้านน้ำเพียงดินของประเทศไทย) ครับ ชาวปาดองยังชีพด้วยการเกษตรกรรม ปลูกข้าว ใบชา ยาสูบส่วนใหญ่จะนับถือ ศาสนาพุทธกับถือผี หญิงสาวชาวปาดอง จะสวมห่วงทองเหลืองที่คอและแขนขาและจะเพิ่มจำนวนห่วงมากขึ้นเมื่อ มีอายุเพิ่มขึ้น การสวมห่วงค้ำคอไว้ตลอดเวลา ห่วงจะดันให้คอดูยาวกว่าปกติ แต่เคยมีการพิสูจน์ในวงการแพทย์ โดยการเอ็กซเรย์ได้ผลออกมาว่า ความจริงแล้วคอปาดองจะไม่ยาวขึ้นกว่าคนธรรมดา กระดูกคอยังคงเท่าเดิม แต่ห่วงจะ ไปกดกระดูกช่วงไหล่ให้ลู่ต่ำลงไป จนดูว่าคอยาวกว่าปกติ อยู่ในเขตตำบลผาบ่อง เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมล่องเรือตามลำน้ำปาย ผ่านบ้านห้วยเดื่อไปจนถึงบ้านน้ำเพียงดินโดยเรือหางยาว ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ตลอดเส้นทางที่ล่องเรือไปตามลำน้ำปายจะผ่านระลอกน้ำที่ลดระดับลดหลั่นกันไปคล้ายธารน้ำตก ละยังได้สัมผัสธรรมชาติริมน้ำปายนับเป็นทัศนียภาพที่งดงาม จุดเด่นของบ้านน้ำเพียงดิน คือ วิถีชีวิตของชาวปากด่อง ( กะเหรี่ยงคอยาว ) หรือกระเหรี่ยงใส่คอ(กะย่าง) รวมถึงสินค้าพื้นเมืองที่ชาวปากด่องนำมาจำหน่าย สินค้าจำพวกผ้าทอต่าง ๆ ล้วนทำมากับมือของชาวปากด่อง


ลักษณะของพื้นที่

         ลักษณะของพื้นที่เป็นชุมชนกะเหรี่ยงคอยาวห้วยเสือเฒ่ามีลักษณะเป็นธรรมชาติ โดยตั้งแต่ทางเข้าของบ้านห้วยเสือเฒ่า สมัยก่อนจะต้องข้ามท่าน้ำ 12 ท่า ลักษณะโดยรอบจะเป็นป่าไม้ ซึ่งกะเหรี่ยงคอยาว(กะยัน)ได้อพยพมาจากประเทศพม่าและมาอาศัยอยู่ที่บ้านในสอย ต่อมาจึงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า เนื่องจากตอนนั้นเกิดการสู้รบกันบ่อย จุดเด่นกะเหรี่ยงคอยาว(กะยัน)คือการใส่ห่วงที่คอ แขน และขา มีอาชีพทอผ้าและทำไร่ และหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน สินค้าที่นำมาขายให้กับนักท่องเที่ยวก็จะเป็นพวกผ้าทอ กำไลเงิน สร้อยคอและเครื่องประดับของชนเผากระเหรี่ยงคอยาวในแบบต่าง ๆ (ไข่เมา ไม่มีสกุล : 20/09/2550)

การแต่งกาย

           การแต่งกายของกะเหรี่ยงคอยาว(กะยัน) ในประเทศพม่าไม่แตกต่างไปจากชนเผ่าอื่นๆ ในชีวิตประจำวันจะสวมกางเกงขายาว เสื้อตัวสั้น ที่น่องตอนบนจะใส่กำไลที่ทำด้วยไม่ไผ่หรือหวาย ที่ข้อเท้าจะสวมกำไลข้อเท้าประดับด้วยลูกปัดสีขาว การแต่งกายของกะเหรี่ยงคอยาวชาย(กะยัน)แต่เดิมนั้นจะสวมเสื้อทรงกระสอบสีขาวซึ่งมีแขน เหมือนผู้หญิงแตกต่างกันที่เสื้อของผู้ชายมีแถบสียาวลงมาจากไหล่ทั้งสองข้างจรดปลายเสื้อ ส่วนกางเกงจะสวมกางเก่งขายาวธรรมดา ปัจจุบันผู้ชายกะยันไม่ได้แต่งกายแตกต่างไปจากผู้ชายไทยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในช่วงเทศกาลเช่นงานกะคว้าง ชายหนุ่มที่เข้าร่วมเต้นรอบเสากะคว้างจะใส่กางเกงขาก๊วย เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวโพกด้วยผ้าสีแดง (สมทรง บุรุษพัฒน์ และ สรินยา คำเมือง 2542 : 9 )

          ในทางตรงกันข้าม การแต่งกายของกะเหรี่ยงคอยาวหญิง(กะยัน)ในประเทศพม่าจะเด่นมาก ผู้หญิงกะยันที่แต่งกายจะสวมเสื้อทรงกระสอบสีขาวซึ่งมีแขนในตัว ความยาวของเสื้อยาวลงมาถึงสะโพก แล้วสวมเสื้อแขนยาว สีดำทับอีกที ส่วนผ้าถุงนั้นสีดำและมีลักษณะแคบทรงกระสอบ พับทบกันด้านหน้า ยาวถึงหัวเข่า ผ้าที่นำมาทำเครื่องนุ่งห่มจะทอเองโดยใช้เครื่องทอแบบใช้หนังรัดข้างหลัง ซึ่งเป็นการท่อผ้าที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงคอยาวผู้หญิง(กะยัน)จะรวบผม และปักด้วยปิ่นปักผมที่เป็นเงินหรือไม้ยาว ๆ หรืออาจใช้หวีเงินอันใหญ่สับไว้ แล้วผูกผมด้วยผ้าสี เป็นปมตรงด้านหน้าศีรษะ สวมตุ้มหูเงินรอบคอ เป็นจุดเด่นที่สุด คือสวมห่วงคอทองเหลืองที่เรียกว่า “เดี้ยงตือ” ประดับประดาด้วยเหรียญเงินและลูกปัด ส่วนที่ข้อมือใส่กำไลข้อมือที่เป็นทองเหลืองหรืออะลูมิเนียม ที่น่องตอนบนใต้เข่าจะใส่ทองเหลืองและพันผ้าไว้ใต้ห่วงกันเสียดสีกับผิว ถัดจากห่วงบริเวณน่องลงมาถึงข้อเท้าจะใส่ห่วงทองเหลือง ห่วงที่ใส่ทั้งตัวนี้รวมทั้งปลอกคอด้วยจะหนัก 22- 36 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันจะสวมน้อยลงเหลือแค่ 7 กิโลกรัม กะเหรี่ยงคอยาวผู้หญิง(กะยัน)ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะใส่เพียงเสื้อทรงกระสอบสีขาวคอวีตัวยาวถึงสะโพกและถ้าถุงสั้นแค่เข่าสีดำทรงกระสอบ ที่น่องใส่ห่วงทองเหลือง ใต้เข่าจะพันผ้าตั้งแต่ใต้ห่วงทองเหลืองถึงข้อเท้า ที่ข้อมือจะใส่กำไลอลูมิเนียมประมาณ 6-7 อัน ถ้าเป็นเด็กจะใส่ 3 อัน ส่วนทรงผมทุกคนไว้ผมหน้าม้า ด้านหลังเกล้าเป็นมวยไว้หรือโพกผ้าที่มีสีสัน เด็ก ๆ มักจะตัดผมสั้น ที่คอก็สวมแค่ห่วงทองเหลืองและผ้าสีใต้คางกันการเสียดสี (สมทรง บุรุษพัฒน์ และ สรินยา คำเมือง 2542 : 9 -10)

        การใสห่วงคอทองเหลืองของสาวกะเหรี่ยงคอยาว(กะยัน)จะเริ่มตั้งแต่มีอายุได้ 5-9 ปี โดยเข้าพิธีใส่ห่วงคอทองเหลือง มีหมอผีประจำเผ่าใส่ให้ ก่อนใส่จะใช้กระดูกไก่ทำนายหาฤกษ์ยามที่ดีที่สุด แต่เดิมนั้นเล่ากันว่าผู้หญิงที่จะสวมห่วงทองเหลืองจะต้องเป็นหญิงที่เกิดวันพุธตรงกับวันเพ็ญเท่านั้น และจะต้องเป็นหญิงกะยันที่แท้จริงไม่ใช้ผสมกับเผ่าอื่น ถ้าไม่ยอมสวมห่วงจะถูกขับออกจากเผ่าทันทีไม่ให้ความช่วยเหลือหรือตัดขาดจากเผ่า ผู้หญิงบางคนจะอับอาย (สมทรง บุรุษพัฒน์ และสรินยา คำเมือง 2542 : 10)

หมายเหตุ กระเหรี่ยงคอยาวมีการเรียกหลายชื่อ กะยัน, เกกองดู, เกกูปาด่อง (สมทรง บุรุษพัฒน์ และ สรินยา คำเมือง 2542 : 10)



ของฝากของที่ระลึก

ผ้าทอด้วยมือของชาวกระเหรี่ยงคอยาว ตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่างๆ


ค่าธรรมเนียมเข้าชม
ชาวไทยไม่เสียค่าธรรมเนียม - ค่าเข้าชม
ชาวต่างชาติเสียค่าธรรมเนียม - ค่าเข้าชม คนละ 250 บาท

สถานที่ตั้ง
หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า
หมู่ 8 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน
โทรศัพท์: 053-612-982 - 3
โทรสาร: 053 612-984

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: ศูนย์ไทใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน, โครงการสำรวจแหล่งเรียนรู้ในภูมิภาค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น